ค่าเดินทาง

ค่าเดินทาง

นักเรียนทุนฯ มีสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง 3 ลักษณะ  คือ

  1. ค่าเดินทางไปศึกษาในต่างประเทศ (ใช้แบบคำร้องขอเบิกค่าใช้จ่าย)
  2. ค่าเดินทางเพื่อย้ายไปศึกษาในระดับที่สูงขึ้น (ใช้แบบคำร้องขอเบิกค่าใช้จ่าย)
  3. ค่าเดินทางกลับประเทศไทยหลังสำเร็จการศึกษา
  4. ค่าเดินทางไปสัมนาวิชาการ 1 ครั้งตลอดหลักสูตร
  5. ค่าเดินทางไปRe-new passport

1. ค่าเดินทางไปศึกษาในต่างประเทศ

1.1 สํานักงาน ก.พ.จะเป็นผู้จัดซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบินจากสนามบินในประเทศไทยถึงสนามบิน ในเมืองที่สถานศึกษาตั้งอยู่ (หรือเมืองใกล้เคียง ในกรณีเมืองที่สถานศึกษาตั้งอยู่ ไม่มีสนามบิน) ให้แก่นักเรียน ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักเรียนทุนฯ

1.2 หากมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากสนามบินฯ ในเมืองปลายทาง ไปสถานศึกษา นักเรียนทุนฯ จะต้องทดรองจ่ายไปก่อน และจะมีสิทธิเบิกได้ตามที่จ่ายจริงเฉพาะ “ค่าพาหนะสาธารณะในชั้นประหยัด” เท่านั้น และนักเรียนทุนฯ จะต้องส่งกากตั๋วค่าโดยสารไปประกอบคำขอเบิกเงินคืนด้วย

2. ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อย้ายไปศึกษาในระดับที่สูงขึ้น

นักเรียนทุนฯ มีสิทธิเบิกตามที่จ่ายจริง โดยมีข้อกำหนด ดังนี้

2.1 ต้องเป็นค่าใช้จ่ายเดินทางโดยเครื่องบิน หรือพาหนะสาธารณะ (เช่น รถไฟ รถประจำทาง) ในชั้นประหยัด

2.2 ต้องเป็นค่าเดินทางจากเมืองที่สถานศึกษาเดิมตั้งอยู่ ไปเมืองที่สถานศึกษาใหม่ตั้งอยู่

2.3 ต้องแนบใบเสร็จรับเงิน (Passenger Receipt และ Itinerary Inovice) สำหรับค่าตั๋วเครื่องบิน และกากตั๋วรถโดยสารสาธารณะ สำหรับรถไฟและรถประจำทาง มาประกอบคำขอเบิกค่าเดินทางด้วย

ข้อควรจำ

  • นักเรียนทุนฯ ซึ่งย้ายสถานศึกษาเพื่อศึกษาในระดับเดิม เช่น เรียนปริญญาตรีปีแรกในสถานศึกษา ก. แล้วย้ายไปศึกษาระดับเดิม (ปริญญาตรี) ในสถานศึกษา ข. จะไม่มีสิทธิเบิกค่าเดินทาง
  • ผู้เดินทางโดยรถเช่าหรือรถส่วนตัว ไม่มีสิทธิเบิกค่าเช่ารถหรือค่าน้ำมัน
  • ผู้เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านที่เมืองไทย แล้วเดินทางจากเมืองไทยไปสถานศึกษาใหม่โดยตรง ไม่มีสิทธิค่าเดินทางเพื่อย้ายไปศึกษาในระดับที่สูงขึ้น
  • นักเรียนทุนฯ ต้องจ่ายค่าเดินทางระหว่างสนามบิน (สถานีรถไฟหรือสถานีรถประจำทาง) กับที่พักเอง
  • การเดินทางต้องเป็นเส้นทางตรงจากเมืองที่สถานศึกษาเดิมตั้งอยู่ ไปเมืองที่สถานศึกษาใหม่ตั้งอยู่ ต้องไม่มีการออกนอกเส้นทาง หรือพักค้างคืนนอกเส้นทาง
  • นักเรียนฯ ไม่มีสิทธิ์เบิกค่าเดินทาง ถ้าสถานศึกษาเดิม และ สถานศึกษาใหม่ ตั้งอยู่ในเมืองเดียวกัน

3. ค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศไทยหลังสำเร็จการศึกษา

นักเรียนฯ มีสิทธิ์ได้รับค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินในการเดินทางกลับประเทศไทยหลังสำเร็จ การศึกษา โดยสามารถเลือกเดินทางสายการบินใดก็ได้ แต่ต้องเปรียบเทียบราคาตั๋วโดยสารเครื่องบินกับสายการบินอื่น อย่างน้อย 1 สายการบิน หรือ 1 บริษัททัวร์ ในเส้นทางและวันเดินทางเดียวกัน โดยสามารถเบิกจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินของสายการบิน หรือบริษัททัวร์ที่มีราคาต่ำที่สุด ทั้งนี้ การพิจารณาจะอยู่บนหลักการของความประหยัดและเหมาะสม ตามหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายดังนี้

3.1 กรณีนักเรียนทดรองจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินไปก่อน ให้เบิกจ่ายจากกลุ่มงานคลัง สำนักงาน ก.พ. เท่านั้น ไม่สามารถเบิกจ่ายจาก สนร. ได้ โดยต้องมีเอกสารประกอบการเบิกจ่ายให้ครบถ้วน ดังต่อไปนี้

  • ใบเสร็จรับเงินฉบับจริง หากชำระออนไลน์ โปรดส่งสำเนา Statement บัตรเครดิตประกอบการเบิกจ่ายเพิ่มเติม
  • รายละเอียดเส้นทางการบิน (Itinerary)
  • บัตรผ่านขึ้นเครื่อง (Boarding Pass)
  • เอกสารเปรียบเทียบราคาค่าตั๋วโดยสารของสายการบินอื่น อย่างน้อย 1 สายการบิน (สามารถปริ๊นซ์จากเว็บไซต์ประกอบการเบิกจ่ายได้)

3.2 กรณีนักเรียนฯ จองตั๋วเดินทาง ผ่านบริษัทนายหน้า สนร. จะจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินให้บริษัทนายหน้าโดยตรง โดยนักเรียนต้องนำส่งเอกสารดังนี้ให้ สนร.

  • แบบแจ้งกำหนดวันเดินทางกลับประเทศไทยหลังสำเร็จการศึกษา
  • Invoice ค่าตั๋วเครื่องบิน และรายละเอียดการเดินทาง
  • เอกสารเปรียบเทียบราคาค่าตั๋วเครื่องบินของสายการบินอื่น อย่างน้อย 1 สายการบิน หรือ 1 บริษัททัวร์

ข้อควรจำ

  • ค่าตั๋วที่ท่านมีสิทธิ์เบิกจ่าย ต้องเป็นเส้นทางจากเมืองที่ท่านศึกษาถึงกรุงเทพฯ หากท่านเปลี่ยนเส้นทาง จะต้องติดต่อสอบถาม สนร. ก่อน พร้อมชี้แจงเหตุผลความจำเป็น โดยต้องเปรียบเทียบราคากับการเดินทางจากเมืองที่ศึกษา หากมีส่วนต่างนักเรียนต้องรับผิดชอบเอง
  • นักเรียนต้องจองตั๋วล่วงหน้าอย่างน้อย 14 วัน
  • ผู้ที่เดินทางกลับเยี่ยมบ้านชั่วคราวหรือพักการศึกษาชั่วคราว ไม่มีสิทธิ์เบิกค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับ
  • ผู้เดินทางกลับประเทศไทยเพื่อเก็บข้อมูลประกอบการทำวิทยานิพนธ์ ไม่มีสิทธิเบิกค่าเดินทาง